บริหารเวลาและพักผ่อนพียงพอช่วยเพิ่มคุณภาพงาน
บริหารเวลาและพักผ่อนพียงพอช่วยเพิ่มคุณภาพงาน
การบริหารเวลาให้นอนหลับเพียงพอ จะทำให้ตอนตื่นนอนรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีสมาธิในการทำงานมากกว่าคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ประชาชนทำงานเช้าวันจันทร์ถึงเที่ยงวันศุกร์ พวกเขาทำงานเพียง 4 วันครึ่งเท่านั้น แต่มีผลงานที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ และปริมาณมากกว่าคนอื่นๆ ที่ทำงาน 5-6วันต่อสัปดาห์ เพราะเวลาชาวเยอรมันทำงาน เขาจะตั้งใจทำอย่างเต็มที่ เมื่อถึงเวลาพักเขาก็จะพักผ่อนอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน จริงจังกับทุกเรื่องที่ทำในช่วงเวลานั้น จึงทำให้ชาวเยอรมนีมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีผลการทำงานดีกว่าคนที่ทำงานไป คุยเล่นไป ซึ่งจะทำให้งานล่าช้า ยืดเยื้อและไม่ได้คุณภาพ
อีกหนึ่งตัวอย่างในสมัยพุทธกาลคือ กิจวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีกิจวัตรที่ชัดเจน โดยในเวลาย่ำรุ่งพระองค์จะสอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลกว่า วันนี้จะทรงไปโปรดใคร แล้วเสด็จไปโปรด เทศน์ และบิณฑบาต หลังจากไปโปรดสัตว์โลกแล้วจึงกลับมาทำพุทธกิจ พักสักครู่หนึ่งถึงไปเทศน์สอนพระภิกษุและประชาชนทั่วไปในตอนเย็น เทศน์สอนเทวดาเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ลงตัวอย่างนี้ทุกวัน ถ้าเราแบ่งเวลาได้ชัดเจนอย่างพระพุทธองค์ คุณภาพงานและสุขภาพร่างกายของเราก็จะดี
ผลเสียจากการนอนดึก
ร่างกายคนเรามีนาฬิกาอยู่ในตนเอง อวัยวะต่างๆในร่างกายจะมีจังหวะเวลาในการทำงานเป็นช่วงๆ เช่น ช่วงไหนเป็นช่วงที่ปอด ตับ หัวใจ และไตมีการพักตัว แต่เราผิดเวลาก็จะไม่เป็นผลดีต่อนาฬิกาในร่างกาย ซึ่งนาฬิกานี้จะมีการปรับตัวได้ แต่ไม่ใช่ตามใจสั่ง ใครเคยเดินทางไปต่างประเทศข้ามเขตเวลาจะเข้าใจในสิ่งนี้ดี สมมติว่าเราเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ที่มีเวลาต่างจากประเทศไทย 12 ชั่วโมง ประเทศไทยเป็นเวลากลางคืน แต่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลากลางวัน ร่างกายของเราจะเกิดอาการง่วงนอน เพราะยังติดเวลาที่ประเทศไทยอยู่ ร่างกายยังปรับตัวไม่ทันกับเวลาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน บางคนใช้เวลานานถึง 1 สัปดาห์ในการปรับตัว
ดังนั้นหากเรามีกิจวัตรที่สลับไปสลับมา วันนี้เข้านอน 4 ทุ่ม พรุ่งนี้เข้านอนตีหนึ่ง วันมะรืนเข้านอนเที่ยงคืน ร่างกายจะเกิดความสับสนทำงานไม่สมดุล เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และเกิดผลเสียต่อการทำงานด้วย แต่ถ้าเราทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตรที่ลงตัว ตรวตามเวลา เข้ากับระบบต่างๆของร่างกาย ก็จะเป็นผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานและสุขภาพของเรา
แก้โรคนอนไม่หลับด้วยสมาธิ
คนที่มีเรื่องให้คิดหลายเรื่องมักจะเกิดอาการนอนไม่หลับ บางครั้งต้องใช้ยานอนหลับช่วยในการนอน แรกๆ ยาเม็ดเดียวอาจจะออกฤทธิ์อย่างได้ผล เมื่อใช้นานเข้าเม็ดเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มปริมาณยาให้มากขึ้น แล้วตอนตื่นนอนจะไม่สดชื่นเหมือนกับการนอนหลับแบบธรรมชาติ อาการนอนไม่หลับสามารถรักษาได้ โดยเริ่มต้นจากการสวดมนต์ นั่งสมาธิและทำใจให้นิ่งๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกายก่อนเข้านอนเพราะในช่วงรอยต่อระหว่างการตื่นกับการหลับ ปกติของใจจะต้องผ่านที่ศูนย์กลางกายที่กลางท้องของเราก่อน พอเรานำใจมาคลอเคลียที่ศูนย์กลางกายก่อนนอนประมาณ 15-30 วินาที เราจะสัมผัสได้เลยว่า ลมหายใจของเราลึกขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ หายใจแบบนี้อีก 2-3 ครั้ง สักพักเราจะหลับสนิท ตื่นมาก็จะสดชื่นแจ่มใส
เป็นคนเด็ดขาดเพื่อสร้างวินัยด้านเวลา
การนอนหัวค่ำเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด เพราะเวลาก่อนนอนบางคนอาจจะรู้สึกว่าตนเองยังพอมีเวลาเหลือ น่าจะทำงานได้อีกสักหน่อย ทำให้ใช้เวลาล่วงเลยไปจนถึงดึกดื่น พอเป็นแบบนี้ทุกวัน ก็ทำให้ไม่สามารถนอนหลับตั้งแต่หัวค่ำได้ ไม่สามารถตื่นแต่เช้าได้และนอนหลับไม่เพียงพอ วิธีแก้ไขคือ ให้ฝึกเป็นคนเด็ดขาดเรื่องเวลา สมมติว่าเราตั้งใจนอนตอน 4 ทุ่ม ก่อนนอนครึ่งชั่วโมงควรอาบน้ำ ทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย สวดมนต์ นั่งสมาธิให้ใจสบาย แล้วล้มตัวลงนอน เรื่องอื่นให้ตัดใจ ถ้าคิดได้ให้จดไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยเริ่มทำใหม่ พอรุ่งขึ้นก็จะสามารถตื่นแต่เช้าได้
การตื่นแต่เช้าจะช่วยให้เราทำงานทุกอย่างเสร็จทันตรงตามกำหนดเวลา เมื่อเราทำทุกอย่างตรงตามเวลา ก็จะสร้างความรู้สึกว่า เราประสบความสำเร็จในทุกๆสิ่งที่ได้ทำตลอดวัน ตลอดสัปดาห์ ตลอดเดือน และตลอดชีวิต เพิ่มความสุข สร้างสุขภาพใจที่ดีได้ เพียงเริ่มต้นด้วยการนอนตั้งแต่หัวค่ำ เราก็จะสามารถตื่นเช้าและประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างตั้งใจ
ที่มา : www2.kalyanamitra.org