พักงีบกลางวัน วันละนิด จิตแจ่มใส
ทำไมต้องหาโอกาสนอน (งีบ) หรือนอนพักกลางวัน
โดย แพทย์แผนจีน นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล
เป็นเรื่องยากลำบากของคนที่ทำงานออฟฟิศ ที่จะแนะนำให้หาเวลาไปนอนงีบช่วงกลางวัน แล้วค่อยตื่นขึ้นมาทำงาน ในต่างประเทศบางประเทศ ให้ความสำคัญกับการพักงีบช่วงกลางวันเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะนิสัยเกียจคร้านของพวกเขา เบื้องหลังการพักงีบหรือหลับกลางวัน คือภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพที่ลึกล้ำที่ควรแก่การวิเคราะห์
การนอนหลับเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอย่างมาก
เคยมีคนทดลองให้คน 3 คน เข้าสู่การทดลอง
คนที่ 1 ไม่ได้ดื่มอะไร
คนที่ 2 ไม่ให้กินอะไร
คนที่ 3 ไม่ให้นอนหลับ
แล้วดูผลว่าใครจะทนไม่ไหวก่อนกัน
ปรากฏว่า คนที่บังคับไม่ให้นอนหลับจะอาการหนักที่สุด แสดงว่าการนอนหลับ มีผลต่อร่างกายจิตใจและชีวิตอย่างมาก เมื่อเทียบกับการขาดอาหาร และน้ำดื่ม
แพทย์แผนจีน เน้นช่วงเวลาการนอนหลับอย่างไร
1. นอนช่วงที่หยินเข้าสู่ภาวะสูงสุดก่อนเกิดหยาง (23.00-01.00 น.) เป็นช่วงแปรเปลี่ยนของพลังหยินเป็นพลังหยาง เรียกว่า เป็นการหลับในช่วงกลางคืน หลับในช่วงจื่อสื่อ
2. นอนช่วงสั้น ๆ ในช่วงที่พลังหยางสูงสุดก่อนการเกิดพลังหยิน (11.00-13.00 น.) เป็นช่วงแปรเปลี่ยนพลังหยางเป็นพลังหยิน เรียกว่าหลับในช่วงหวู่สื่อ เป็นการหลับสั้น ๆ ในช่วงกลางวันหรือเที่ยง
3. การหลับให้สนิทในช่วงพลังลมปราณเข้าอวัยวะตับ คือ 01.00-03.00 น. เพื่อรักษาและถนอมตับ และเก็บเลือดกลับสู่ร่างกายให้มากที่สุด เรียกว่าหลับในช่วงโฉว่สื่อ
4. การหลับให้สนิทในช่วงพลังลมปราณเข้าอวัยวะปอด คือ 03.00-05.00 น. เพื่อช่วยให้ปอดสามารถส่งเลือด และพลังไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ เรียกว่า พลังในช่วงยิ่นสือ
การนอนหลับในช่วงกลางวันสำคัญอย่างไร
Cr. Photo : www.smallofficetherapy.com
1. แพทย์แผนจีนกล่าวถึงการนอนหลับในช่วงแปรเปลี่ยนของพลังหยินหยาง คือ ช่วง 23.00-01.00 น. และช่วง 11.00-13.00 น. ว่า จื่อหวู่เจี้ยว
– ช่วงเวลาจื่น (23.00-01.00 น.) หลับยาว
– ช่วงเวลาหวู่ (11.00-13.00 น.) หลับสั้น ๆ
2.การหลับสั้น ๆ ในช่วงกลางวัน
– ช่วงลดภาวะหยางกำเริบ หรือไฟในร่างกายได้ โดยเฉพาะคนที่ปากเป็นแผลร้อนใน อารมณ์หงุดหงิด มีปัญหาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน ควรหาเวลาพักนอนหลับงีบสั้น ๆ หรือสงบอารมณ์ผ่อนคลายในช่วงนี้
– โดยธรรมชาติช่วงเวลา 11.00-13.00 น. เป็นช่วงที่พลังหยางสูงสุดในรอบวัน และยิ่งถ้าเป็นฤดูร้อน ช่วงที่อากาศร้อนจัด ความร้อนจะลอยสูงสู่เบื้องบน ทำให้เป็นช่วงที่ทำลายหยินของร่างกายได้มากที่สุด หลักการสำคัญของการพักจิตใจ หรือการนอนหลับ คือการนอนเสริมหยิน เพื่อลดความร้อนแรงของหยางนั่นเอง
– ถ้ายังทำงานไม่หยุด หรือใช้พลังหยางอย่างต่อเนื่องจะทำให้พลังหยางมากยิ่งขึ้น จะทำลายหยิน และเลือดอย่างมาก
– การนอนหลับสั้น ๆ ประมาณ 15 นาที 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ตามสภาพเงื่อนไขของแต่ละบุคคล และสภาพการงาน ถ้าไม่มีโอกาสนอนงีบก็ขอให้นั่งเอนงีบหรือปิดตาปล่อยวางจิต ลดการใช้เลือดและพลังหยางของร่างกาย ก็ยังได้ผลดีกว่าไม่พักสงบจิตเลย
3.การนอนหลับในช่วงเที่ยง ลดภาระการทำงานหนักของหัวใจ ลดอัตราการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันได้ร้อยละ 30 และเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพในช่วงตอนบ่าย
Cr. Photo : https://michaelhyatt.com
4. ช่วงเที่ยงวัน ยังต้องพิจารณา เรื่องอาหารมื้อเที่ยงควบคู่กันไปด้วย
– ควรพักงีบก่อนกินอาหารเที่ยง หรือควรกินอาหารเที่ยงก่อนพักงีบ
– ปกติมักจะพักเที่ยงกันตอน 12.00 น. ตามหลักทฤษฎีแพทย์แผนจีนแล้ว ควรพักจิต หรืองีบหลับก่อนกินอาหาร เพราะเมื่อกินอาหารอิ่มแล้วไปนอนหลับ จะทำให้อาหารมีการย่อยดูดซึมไม่เต็มที่ (ไม่ว่าจะเป็นการกินอิ่มก่อนนอนในช่วงกลางวันหรือกลางคืน) เพราะขณะนอนพักร่างกายจะพักทำงาน ระบบย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง จึงควรหาเวลาสั้น ๆ พักก่อนไปกินอาหาร หลังกินอาหารเที่ยงควรเดินพักผ่อน เคลื่อนไหวอิริยาบถเบา ๆ จึงจะเหมาะสมกว่า
– การกินอาหารเที่ยงไม่ควรเกิน 12.30 น. เพราะช่วง 13.00 น. เป็นช่วงส่งผ่านพลังลมปราณ มายังลำไส้เล็ก ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมสารอาหารของดีขับแยกอาหารและของเสียออกจากกัน เพื่อขับทิ้งสู่ลำไส้ใหญ่ การทำงานของลำไส้เล็กที่ดีจะมีผลต่อการที่ร่างกายได้สารอาหารหล่อเลี้ยงที่สมบูรณ์
– ช่วงเวลา 13.00-15.00 น. ร่างกายค่อนข้างทำงานหนัก ด้านหนึ่งพลังหยินกำลังเกิด พลังหยางกำลังลดลง ร่างกายใช้พลังหยางมาตลอดช่วงเช้า บางคนต้องใช้กาแฟ น้ำชา ของเผ็ดร้อน มากระตุ้นระบบประสาทให้ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
– ขอแนะนำ ลองปรับเปลี่ยนเป็นวิถีธรรมชาติ ด้วยการหาเวลาหลับงีบสั้น ๆ หรือพักจิต หรือปิดตาผ่อนคลายในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเวลา 12.00-13.00 น. ก่อนไปกินอาหาร จะทำให้อาการอ่อนล้าในช่วงบ่ายดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องกระตุ้นด้วยกาแฟ เพราะเป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติ
5. การนอนช่วงกลางวัน ไม่ควรยาวเกินหรือนานเกินไป
เพราะจะไปรบกวนธรรมชาติของร่างกาย ทำให้วงจรนาฬิกาชีวิตแปรปรวนได้ เช่น เวลาที่ควรจะง่วงและนอนกลางคืนกลับไม่ง่วง ทำให้นอนดึก ตื่นสาย กินอาหารไม่ตรงตามเวลาที่เหมาะสม
– ช่วงหน้าร้อน กลางวันยาว กลางคืนสั้น การนอนช่วงกลางวัน ควรยาวกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อเก็บสะสมหยินให้มากพอ
– ช่วงหน้าหนาว กลางวันสั้น กลางคืนยาว การนอนหลับ ช่วงกลางวันไม่ควรจะยาว เพราะต้องเก็บพลังหยางให้พอ
6.อาหารมื้อเที่ยง ไม่ควรอิ่มเกินไป เพราะร่างกายต้องใช้พลังมาบำรุงเลี้ยงในการย่อยมาก
7.ถ้าไม่มีโอกาสหลับ หรืองีบ ให้ปิดตาพักจิตใจในเวลาสั้น ๆ (การปิดตาคือการเสริมหยินและเสิน จิตประสาท สมอง) ลดการกระตุ้นจากภายนอก ทำให้จิตสงบ
สรุป
การยึดกุมโอกาส คือความสำเร็จ
วิธีธรรมชาติ ถ้าเรารู้จักกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นอย่างดี เราสามารถหยิบโอกาสต่าง ๆ มาได้อย่างง่ายดาย ในทางตรงข้าม เวลาและโอกาสที่ผ่านไปสำหรับคนจำนวนมาก มองไม่เห็น เข้าไม่ถึง ได้แต่หยิบฉวยความว่างเปล่า ให้โอกาสและกาลเวลาผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
เคล็ดลับการนอนหลับโดยเฉพาะช่วงกลางคืน และการพักงีบสั้น ๆ ช่วงกลางวันเป็นภูมิปัญญาที่ลึกล้ำ ที่เหมาะกับการนำมาดูแลสุขภาพได้โดยไม่ต้องหายจากภายนอกแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ว่า “บำรุงด้วยยา ไม่ดีเท่าการบำรุงด้วยอาหาร การบำรุงด้วยอาหาร ไม่ดีเท่าการบำรุงด้วยการนอนหลับ”
กล่าวให้ถึงที่สุด การนอนหลับเป็นยาบำรุงชั้นดีของตับและไต
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธีหมอชาวบ้าน